Skip to content (Press Enter)

ทำไมธุรกิจขนาดเล็กถึงล้มเหลวและจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร

หากคุณดำเนินธุรกิจขนาดเล็กหรือกำลังคิดที่จะเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็ก คุณอาจสงสัยว่าควรระวังหลุมพรางใดบ้าง บทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุทั่วไปที่ทำให้ธุรกิจเจ๊ง และกลยุทธ์ที่คุณสามารถใช้เพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลว

ความล้มเหลวนั้นเป็นดาบสองคม

ความล้มเหลวเป็นแหล่งเรียนรู้อันล้ำค่าที่มอบประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด การรู้ว่าคุณหรือคนอื่นๆ ทำผิดพลาดที่จุดใดในอดีตเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคุณในการเดินเส้นทางเดียวกันในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครเริ่มต้นธุรกิจด้วยจุดมุ่งหมายที่จะไม่ประสบความสำเร็จ ทุกคนล้วนปรารถนาที่จะลดความล้มเหลวให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่การพูดนั้นง่ายกว่าการทำ และบริษัทสตาร์ทอัพ 90% ก็ล้มเหลวกันทั้งสิ้น ธุรกิจขนาดเล็กนั้นเสี่ยงที่จะล้มเหลวตลอดช่วงปีแรกๆ แต่ที่น่าแปลกคือความเสี่ยงนั้นยังคงอยู่แม้จะผ่านปีแรกหรือหลายปีไปแล้ว ดังนี้

  • ธุรกิจ 20% ล้มเหลวใน 2 ปีแรก
  • ธุรกิจ 45% ล้มเหลวใน 5 ปีแรก
  • ธุรกิจ 65% ล้มเหลวใน 10 ปีแรก

ในความเป็นจริงแล้ว มีบริษัทสตาร์ทอัพเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่หลีกเลี่ยงความล้มเหลวของธุรกิจขนาดเล็กไปได้ และมีอายุถึง 15 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจดูน่าตกใจ แต่คุณก็คงสังเกตได้ด้วยว่า สิ่งนี้หยุดผู้ประกอบการที่ทะเยอทะยานไม่ได้ ในปี 2019 มีบริษัทสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกามากกว่า 770,000 บริษัทที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 733,490 บริษัทจากข้อมูลในปี 2017 สำหรับผู้ที่ทำสำเร็จก็อาจประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ถึงจะเป็นการลงทุนที่ไม่ได้ใหญ่โตมากนัก ความสำเร็จที่ได้จัดตั้งธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่างนั้นก็ยังเป็นความภาคภูมิใจและความสุขได้อยู่ดี การสร้างองค์กรธุรกิจที่จับต้องได้จากสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงความคิดนั้นต้องอาศัยความกล้าหาญและความทุ่มเทซึ่งก็เป็นความสำเร็จในตัวเองแล้ว คุณไม่ควรมองข้ามสิ่งนี้ไป

ปี 2020 นำมาซึ่งหายนะทางเศรษฐกิจที่ไม่มีใครคาดเดาได้ ขณะที่อนาคตยังคงมีแต่ความไม่แน่นอน การประมาณการของปีถัดไปชี้ให้เห็นว่าอาจยังมีช่วงเวลาที่ยากลำบากรออยู่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กเกือบครึ่งหนึ่ง หากสภาพเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนาดเล็กได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าคู่ค้ารายใหญ่ การที่ผู้ประกอบการมากมายต่างวิ่งเข้าหาโอกาสที่เกิดจากเหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่เพื่อสร้างธุรกิจใหม่นั้นแสดงให้เห็นถึงลักษณะสำคัญที่ธุรกิจขนาดเล็กแท้จริงควรมี

ทำไมธุรกิจขนาดเล็กจึงล้มเหลว

แล้วทำไมธุรกิจขนาดเล็กบางรายจึงล้มเหลว ในขณะที่รายอื่นประสบความสำเร็จ คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้แน่ใจว่าโชคชะตาจะเข้าข้างธุรกิจของคุณ หากคุณไม่ต้องการให้บริษัทสตาร์ทอัพของคุณต้องปิดตัวลงภายในเวลาไม่กี่ปี คุณควรหลีกเลี่ยงอันตรายต่อไปนี้

การดำเนินการที่ไม่ดี

หากคิดจะทำอะไรสักอย่างก็จงทำให้ดี ก่อนที่คุณจะคิดเริ่มการลงทุนใหม่ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อทำให้ธุรกิจนี้เป็นไปได้ กล่าวคือคุณต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงในการบริหารธุรกิจขนาดเล็ก มาตรฐานที่ผู้คนคาดหวังจากบริษัทสตาร์ทอัพ คือ การพัฒนาวิธีการทำงานให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้ได้วิธีที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นหมายความว่าคุณต้องมีเวิร์กโฟลว์ที่ลื่นไหลที่สุดและมีเครื่องมือที่ดีที่สุดพร้อมให้คุณใช้งาน เพราะเมื่อคุณแบกรับความเสี่ยงไว้มาก คุณจะต้องการเครื่องมือนี้อย่างแน่นอน เลือก Dropbox ให้เป็นหนึ่งในอาวุธคู่กายของคุณและเป็นหนึ่งในธุรกิจขนาดเล็กที่ Dropbox ได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น Valiant ซึ่งได้กล่าวว่า “เพราะมี Dropbox Business เราจึงสามารถส่งไฟล์ไปยังโรงพิมพ์ของเราได้สำเร็จในทุกๆ สัปดาห์ตั้งแต่ที่เราเริ่มตีพิมพ์”

การวิจัยการตลาดที่ไม่ดี

ไม่ว่าคุณจะคิดว่าความคิดธุรกิจของคุณยอดเยี่ยมเพียงใด ความคิดนั้นจะไปไม่ไกลนักหากผู้คนไม่ต้องการ และสาเหตุทั่วไปที่ธุรกิจใหม่ล้มเหลวก็คือการไม่รู้ว่าผู้คนต้องการอะไรนั่นเอง ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคือธุรกิจที่หาช่องว่างในตลาดเจอและเติมเต็มช่องว่างนั้นๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความคิดทั้งหมดของคุณจำเป็นจะต้องหลุดโลก แต่คุณควรตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำสินค้าหรือบริการออกสู่ตลาด ดังนั้นหากคุณเต็มใจที่จะลงทุน ลงแรง และให้เวลากับธุรกิจนี้ คุณควรแน่ใจว่าคุณจะไม่พลาดตั้งแต่ก้าวแรก แน่นอนว่าทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง แต่สำหรับธุรกิจอายุน้อยส่วนใหญ่แล้ว การค้นหาความต้องการให้เจอและตอบโจทย์นั้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการพยายามสร้างความสนใจในตลาดที่อิ่มตัวแล้ว

ไม่มีแผนธุรกิจ

ทุกคนต้องมีแผนในชีวิต และแผนการเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งหากคุณตั้งใจจะเริ่มต้นธุรกิจ คุณต้องมีแผนธุรกิจที่แข็งแกร่งเพื่อให้เป็นมากกว่าเพียงแผนงาน แผนธุรกิจที่ดีจะช่วยดึงดูดนักลงทุน ทำให้กู้เงินได้อย่างมีความมั่นคง และเป็นที่สนใจของผู้มีความสามารถชั้นยอดอีกด้วย การเริ่มธุรกิจโดยไม่มีแผนธุรกิจที่รัดกุมและไตร่ตรองไว้ก่อนมักจะทำให้ธุรกิจล้มเหลว

สิ่งที่ต้องรวมไว้ในแผนธุรกิจมีดังนี้

สรุปสำหรับผู้บริหาร สิ่งนี้เปรียบเสมือนเป็นการนำเสนอขายของคุณ โดยระบุว่าธุรกิจของคุณจะทำอะไร จะทำอย่างไร ทีมผู้บริหารของคุณคือใคร และคุณจะดำเนินการจากที่ใด

รายละเอียดบริษัท เป็นสิ่งที่บอกว่าบริษัทของคุณจะทำอะไร และสินค้าหรือบริการของคุณจะแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองความต้องการในด้านใด ซึ่งในส่วนนี้ให้คุณอธิบายกระบวนการผลิตของคุณหรือผู้บริโภคที่คุณตั้งใจจะให้บริการ ทั้งนี้ควรรวมสิ่งต่างๆ เช่นโครงสร้างทางกฎหมายและค่าใช้จ่ายของธุรกิจของคุณที่นี่ด้วย

การวิจัย แผนธุรกิจที่แข็งแกร่งต้องมีการวิจัยรองรับ ซึ่งนี่คือส่วนที่คุณต้องอธิบายให้ละเอียด คุณควรอธิบายถึงการวิเคราะห์การตลาดและกลยุทธ์ที่คุณวางไว้ในส่วนนี้ รวมไปถึงการคาดการณ์และเหตุการณ์สำคัญด้วย เปรียบเทียบตัวเองกับคู่แข่งแล้วอธิบายว่าคุณเชื่อว่าธุรกิจของคุณมีข้อได้เปรียบอย่างไร ทั้งนี้คุณอาจใส่คำรับรองจากลูกค้าได้ หากต้องการ

รายละเอียดการจัดการ การจัดการที่ดีเป็นกุญแจสำคัญของทุกๆ บริษัท ให้อธิบายในส่วนนี้ว่าคุณตั้งใจจะเป็นบริษัทประเภทใด และอธิบายรูปแบบธุรกิจของคุณด้วย ไม่ว่าจะวางแผนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือวางแผนที่จะเป็นเจ้าของคนเดียว สร้างแผนผังองค์กรเพื่อแสดงว่าใครคือผู้มีอำนาจตัดสินใจที่สำคัญ ซึ่งคุณอาจรวมประวัติย่อของผู้มีอำนาจตัดสินใจดังกล่าวด้วย

การตลาด อธิบายวิธีที่คุณวางแผนที่จะดึงดูดและรักษาลูกค้า ตลอดจนการสร้างและการจัดการแบรนด์โดยรวมของคุณ

การเงิน สิ่งใหญ่ในแผนธุรกิจ ในส่วนนี้คุณต้องมีการคาดการณ์ทางการเงิน งบกระแสเงินสด และงบดุล คุณควรตั้งเป้าหมายคาดการณ์ระยะยาวเป็นเวลาประมาณ 5 ปี เพื่อแสดงให้เห็นถึงแผนของคุณในการบริหารบริษัทให้มั่นคงและก้าวไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ

ทั้งนี้แผนธุรกิจของคุณก็ไม่ควรเป็นความลับเช่นกัน ทีมของคุณควรอ้างอิงจากแผนนี้ได้เสมอ แผนธุรกิจควรเป็นรากฐานที่สำคัญของแหล่งข้อมูลของธุรกิจ และควรแบ่งปันร่วมกับสมาชิกทุกคนในทีมของคุณ

ทีมขาดจิตวิญญาณ

สตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่องง่าย คุณมักจะเห็นคำอธิบายตำแหน่งงานว่างที่เตือนคุณเกี่ยวกับ “วัฒนธรรมสตาร์ทอัพ” ซึ่งอาจหมายถึงเงินเดือนเริ่มต้นต่ำ ชั่วโมงการทำงานยาวนาน และความคาดหวังให้คุณทำหน้าที่ต่างๆ เกินกว่าที่ตำแหน่งงานของคุณระบุไว้ แต่นี่เป็นเพียงธรรมชาติของธุรกิจขนาดเล็กที่การผลักดันสู่ความยิ่งใหญ่นั้นฝังรากอยู่ในทุกๆ การกระทำของทีม และคุณต้องเป็นทีมจริงๆ หากมีใครคิดว่า “นั่นไม่ใช่งานของฉัน” หรือแม้กระทั่งมี CEO ที่คิดว่าตัวเองอยู่เพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจเท่านั้นและไม่ต้องจมปลักกับงานในแต่ละวัน ความล้มเหลวก็จะตามมาอย่างแน่นอน การเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่การนั่งอยู่แต่ในห้องทำงานและให้คนอื่นทำงาน แต่คุณต้องส่งเสริมวัฒนธรรมของบริษัทที่ทุกคนไม่เพียงแต่มีส่วนร่วม หากแต่เป็นส่วนหนึ่งและมีความหมายกับบริษัทจริงๆ

พื้นที่ทำงานส่วนกลางช่วยให้ทุกคนทำงานเดียวกันทั้งหมด โดยไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องงานเข้ามาขวางคุณ คุณจะเห็นว่าบ่อยครั้งที่บริษัทสตาร์ทอัพไม่ได้นำโดย CEO เพียงคนเดียว แต่นำโดยผู้ร่วมก่อตั้งหลายคน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการแบ่งเบาภาระและการแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันนั้นเป็นหัวใจของธุรกิจสตาร์ทอัพ

เงินน้อยเกินไปและฝันไกลเกินไป

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ชัดเจน ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องราวของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากเงินน้อยนิดให้เห็นอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้ว เงินก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของทุกๆ บริษัทอยู่ดี เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กต้องมีสติและคิดถึงความอยู่รอดของธุรกิจเป็นอันดับแรก อย่าได้หลงไปกับภาพลวงตาของความยิ่งใหญ่ แน่นอนว่าสำนักงานทันสมัยใจกลางเมืองอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมคุณได้ แต่นั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องมีจริงๆ หรือ บางทีการรับพนักงานเพิ่มอาจช่วยลดภาระให้กับพนักงานปัจจุบันของคุณได้ แต่คุณมีงบมากพอหรือไม่ ไม่มีใครอยากเห็นธุรกิจล้มเหลว แต่คุณควรใช้ภาพแห่งความล้มเหลวนี้เตือนใจไม่ให้ลงทุนในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะหากคุณล้มเหลว คุณยังคงต้องชำระหนี้ทั้งหมดที่คุณได้ยืมมาเพื่อพยายามเปลี่ยนความฝัน (ที่อาจเกินตัว) ให้เป็นความจริงอีกด้วย

ให้พิจารณาค่านิยมหลักของทีมแทน เช่น ความสามารถในการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น ให้คิดว่าการทำงานนั้นเป็นประสบการณ์โดยรวม และคุณจะพบกับการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการลงทุนในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น พื้นที่สำนักงานที่สวยงามและราคาแพงกว่า

ตัวตนทางธุรกิจที่ไม่ดี

คุณอาจมีธุรกิจที่ดีที่สุดในโลก พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์ที่คุณรู้ว่าผู้คนต้องการ โดยมีข้อมูลการวิเคราะห์การตลาดรองรับ แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้าผู้คนไม่รู้ว่าจะเข้าถึงคุณได้จากที่ใด แม้ว่าปัญหานี้จะไม่ได้ดูยากเย็นเท่ากับการศึกษาตัวเลขและการคาดการณ์การเงิน แต่ก็เป็นปัญหาที่พบบ่อย ซึ่งอาจเพราะปัญหานี้มักถูกมองข้ามไป คุณอาจกำลังมองหาสถานที่ใหม่ เมื่อพบสถานที่ที่ "รู้สึกใช่" คุณก็ย้ายทีมของคุณไปในทันที แต่โชคไม่ดีที่สัญชาตญาณไม่ใช่ตัวชี้วัดทางธุรกิจที่แม่นยำเท่าใดนัก ทำเลที่ไม่ดีทำให้ธุรกิจเจ๊งได้ แต่การมีตัวตนที่ไม่ดีในโลกอินเทอร์เน็ตก็ทำให้ธุรกิจเจ๊งได้เช่นกัน ช่องทางออนไลน์นั้นเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การมีร้านค้าออนไลน์เท่านั้น แต่รวมไปถึงการมีส่วนร่วมกับลูกค้าและการขยายฐานลูกค้าของคุณผ่านทางโซเชียลมีเดียและกลยุทธ์ช่องทางที่หลากหลายอื่นๆ อีกด้วย หมดยุคของการมีที่อยู่เพียงในไดเร็กทอรี่ธุรกิจแล้ว ในยุคนี้ธุรกิจของคุณต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันในหลายช่องทางพร้อมกัน

ไม่ปรับตัวไปตามกาลเวลา

ธุรกิจสตาร์ทอัพต้องเติบโตและคุณจะเติบโตไม่ได้ถ้าคุณไม่ปรับตัว อาจจะจริงที่ว่าคุณตอบสนองความต้องการในปริมาณมากได้สำเร็จแล้ว แต่คุณก็คงจะไม่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ตลอดไป ไม่ช้าก็เร็วการเติบโตจะเริ่มชะลอ ทั้งยังมีคู่แข่งรายอื่นๆ เข้ามาในตลาดเสมอ ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งคือ Uber ที่ได้ขยายรูปแบบธุรกิจให้มีบริการส่งอาหาร บริการจัดส่งของ และบริการเช่าจักรยาน จากเดิมที่มีเพียงบริการรถแท็กซี่เท่านั้น คุณไม่เพียงแต่ต้องรู้วิธีขยายและวิธีหาโอกาสใหม่ๆ เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจถึงวิธีการฟื้นตัวเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นอีกด้วย ดูตัวอย่างได้จาก Valiant ที่ข้ามผ่านอุปสรรคอย่างภัยธรรมชาติมาได้และไม่หยุดเดินหน้าสู่ความสำเร็จ "พายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ทำให้เมืองเป็นอัมพาต แต่ต้องขอบคุณ Dropbox ที่ทำให้กระบวนการจัดพิมพ์หนังสือของเราไม่หยุดชะงักไปด้วย เราไม่เคยพลาดกำหนดเวลาส่งงานเลย" เรื่องนี้ยังเชื่อมโยงกลับไปยังความสำคัญของทีมอีกด้วย อย่าลืมว่าการทำงานร่วมกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือ บางครั้งคุณอาจทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังคงล้มเหลวด้วยเหตุผลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคุณ และความล้มเหลวเป็นเพียงคำอธิบายผลลัพธ์เท่านั้น ไม่ใช่การประเมินบุคคล มีสตาร์ทอัพมากมายที่พยายาม แล้วล้มเหลว แล้วลองอีกครั้ง พร้อมกับเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จในที่สุด แม้คุณจะไม่รู้สึกเช่นนั้น แต่ความพากเพียร ความเต็มใจที่จะปรับตัว และความสามารถในการยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลวล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมาย

ค้นพบวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำงานให้เสร็จ

เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ Dropbox