Skip to content (Press Enter)

เส้นทางวิกฤตคืออะไร

ทำให้ชีวิตการทำงานของคุณง่ายขึ้นด้วยวิธีการหาเส้นทางวิกฤต เพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่าโครงการของคุณจะตรงตามกำหนดเวลาและอยู่ในงบประมาณเสมอ

คำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการหาเส้นทางวิกฤต

เมื่อคุณจัดการโครงการที่ซับซ้อนซึ่งมีส่วนต่างๆ มากมายที่ดำเนินไปและมีกำหนดเวลาที่เปลี่ยนไป การส่งมอบโครงการให้ตรงตามกำหนดเวลาและงบประมาณอาจเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ มีเครื่องมือการจัดการโครงการที่หลากหลายซึ่งสามารถช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือวิธีการหาเส้นทางวิกฤต (Critical Path Method: CPM)

เส้นทางวิกฤตคืออะไร

CPM เป็นเทคนิคการสร้างแบบจำลองโครงการที่คุณสามารถใช้ในการวิเคราะห์ วางแผน และกำหนดเวลาโครงการที่ซับซ้อนได้ โดยหลักแล้ว เมื่อใช้วิธีการหาเส้นทางวิกฤต คุณจำเป็นต้องแจกแจงรายการกิจกรรมทั้งหมดที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม และความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างกิจกรรมเหล่านี้ เส้นทางวิกฤตคือระยะเวลาที่นานที่สุดที่จะช่วยทำให้โครงการโดยรวมแล้วเสร็จ ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการจัดโครงสร้างตารางเวลาของโครงการให้ดีที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าจะส่งมอบโครงการตรงตามกำหนดเวลาและมีต้นทุนต่ำสุด กล่าวง่ายๆ คือ วิธีการหาเส้นทางวิกฤตช่วยให้คุณเข้าใจลำดับเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ

ประวัติความเป็นมาของการวิเคราะห์เส้นทางวิกฤต

CPM ได้รับการพัฒนาขึ้นในปลายปี 1950 โดย James E. Kelley จาก Remington Rand และ Morgan R. Walker จาก DuPont พวกเขาพยายามหาวิธีในการลดต้นทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการปิดและเปิดโรงงานใหม่ที่เกิดจากการจัดตารางเวลาที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยการทำให้แน่ใจว่าได้ดำเนินงานที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่พียงแค่แก้ปัญหาด้วยการใช้แรงงานเพิ่ม แต่พวกเขาพบว่าสามารถหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายส่วนเกินได้

Kelley และ Walker ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการวิจัยของพวกเขาในปี 1959 แม้ว่า DuPont จะย้ายออกจากฝ่ายเทคนิคหลังจากที่มีการเปลี่ยนทีมผู้บริหารที่รับผิดชอบฝ่ายดังกล่าว ในช่วงเวลาเดียวกัน กองทัพเรือสหรัฐฯ และ Booz Allen Hamilton ได้พัฒนาเทคนิคที่คล้ายกันอย่าง ⁠PERT (เทคนิคการประเมินผลและการทบทวนโปรแกรม) ⁠ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า "เส้นทางวิกฤต" อันที่จริงแล้ว การวิเคราะห์เส้นทางวิกฤตมีรากฐานมาจากเทคนิคของ DuPont ตั้งแต่ก่อนหน้าในช่วงต้นปี 1940 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการ Manhattan ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าความสนใจของ DuPont เกี่ยวกับวิธีการหาเส้นทางวิกฤตจะลดลงในช่วงต้นปี 1960 แต่บริษัทอื่นๆ อีกสองแห่งได้เริ่มใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อดูแลโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึง Mauchly Associates และ Catalytic Construction ในเบื้องต้น การใช้ CPM จำเป็นต้องมีการเข้าถึงคอมพิวเตอร์เมนเฟรมขนาดใหญ่และเฉพาะทาง ด้วยเหตุนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดการโครงการด้วยเส้นทางวิกฤตจึงมีอุปสรรคสำคัญในการเข้าใช้งาน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีวิวัฒนาการด้านพีซีและนวัตกรรมในส่วนของฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถจัดการตารางเวลาบนคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปมาตรฐานได้ และการใช้เส้นทางวิกฤติกลายเป็นวิธีการที่แพร่หลายมากขึ้น

การจัดการโครงการด้วยเส้นทางวิกฤตทำงานอย่างไร

วิธีการหาเส้นทางวิกฤตในระยะแรกมีขั้นตอนพื้นฐาน 4 ขั้นตอน ต่อไปนี้คือวิธีการทำงานที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมเล็กน้อย

 

  1. ทำรายการงาน/กิจกรรมทั้งหมด: ก่อนอื่น คุณต้องทำรายการงานและกิจกรรมทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จในโครงสร้างการแบ่งย่อยงาน (Work Breakdown Structure: WBS) กล่าวโดยทั่วไปแล้ว โครงสร้างนี้ควรประกอบด้วยงานที่สำคัญและกิจกรรมระดับสูงเท่านั้น (ไม่ใช่รายละเอียดปลีกย่อย) เนื่องจากการวิเคราะห์เส้นทางวิกฤตอาจซับซ้อนเกินไปสำหรับการจัดการ ถ้ามีภาพรวมโดยละเอียดของกิจกรรมทั้งหมด

  2. คำนวณระยะเวลาของแต่ละงาน: ขั้นตอนที่สอง คุณจะต้องคำนวณระยะเวลาที่นานที่สุดที่ต้องดำเนินงานของเส้นทางวิกฤตแต่ละงานให้แล้วเสร็จ แน่นอนว่าระยะเวลาของกิจกรรมจะต้องเป็นแบบประมาณการ ดังนั้น ให้ใช้ประสบการณ์ของคุณรวมถึงความรู้ของเพื่อนร่วมงานในการคาดการณ์จากข้อมูลที่มี คุณจะต้องแจกแจงรายการงานแต่ละงานตามวันที่แรกสุดที่สามารถเริ่มต้นและสิ้นสุดงานได้โดยไม่ทำให้โครงการล่าช้า

  3. กำหนดความเกี่ยวเนื่องกันของงาน: ต่อไป คุณควรรวบรวมความเกี่ยวเนื่องกันของงานใดๆ โดยที่กิจกรรมแรกหรืองานที่ทำก่อนหน้าจะเป็นตัวกำหนดวันที่เริ่มต้นดำเนินงานที่ตามมา เมื่อต้องการทำงานที่มีความเกี่ยวเนื่องกันกับงานอื่นของโครงการ ให้ถามตัวเองดังต่อไปนี้ขณะแจกแจงรายการกิจกรรม
    ก. งานใดที่ต้องทำให้แล้วเร็จก่อนถึงจะเริ่มงานนี้ได้
    ข. งานใดควรเกิดขึ้นทันทีหลังจากงานนี้
    ค. งานใดควรเสร็จพร้อมกันกับงานนี้
  4. บันทึกเหตุการณ์สำคัญของโครงการ: ขั้นตอนสุดท้าย สิ่งสำคัญคือต้องจดบันทึกเหตุการณ์สำคัญหลักๆ ของโครงการ รวมถึงงานต่างๆ ที่ส่งมอบในโครงการ

เมื่อคุณรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนี้แล้ว คุณจะต้องสร้างแบบจำลองเพื่อให้เห็นภาพกิจกรรมของโครงการ ซึ่งมีโมเดลหลายแบบที่คุณสามารถใช้ได้ ตั้งแต่กราฟแบบง่ายและไดอะแกรมเครือข่าย ไปจนถึงมุมมองแผนภูมิแกนต์ จากนั้น เมื่อใช้โมเดลนี้ คุณจะสามารถกำหนดเส้นทางวิกฤตของโครงการได้ อย่าลืมว่า นั่นคือเส้นทางที่ยาวที่สุดของกิจกรรมตามแผนงานของคุณไปจนสิ้นสุดโครงการ รวมถึงวันที่/เวลาแรกสุดและล่าสุดที่สามารถเริ่มแต่ละกิจกรรมได้โดยไม่ทำให้โครงการล่าช้า ซึ่งจะแสดงระยะเวลาที่นานที่สุดของโครงการที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ

หลังจากที่คุณหาเส้นทางวิกฤตได้แล้ว คุณจะระบุได้ว่ารายการใดเป็น “กิจกรรมที่สำคัญ” และรายการใดที่มี “เวลาสำรองโดยรวม” (อาจล่าช้าได้โดยไม่ต้องขยายระยะเวลาของโครงการ) จากนั้น คุณสามารถใช้ข้อมูลนี้สำหรับการติดตามเวลาเริ่มต้นงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาของโครงการ ถ้าจำเป็น และจัดการข้อจำกัดด้านทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ข้อดีของวิธีการหาเส้นทางวิกฤต

การจัดการโครงการด้วยเส้นทางวิกฤตมีประโยชน์ที่สำคัญหลายประการ ประการแรกและประการสำคัญที่สุดคือ วิธีการนี้ช่วยให้ผู้จัดการโครงการระบุงานที่สำคัญที่สุดในโครงการของคุณได้ ถ้ากิจกรรมของเส้นทางวิกฤตมีเวลาเริ่มต้นที่ล่าช้าหรือใช้เวลานานกว่าที่คาดหมาย โครงการทั้งหมดจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น การที่ผู้จัดการโครงการมีแผนงานโครงการที่ระบุงานซึ่งต้องจัดการอย่างใกล้ชิดมากกว่างานอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และการพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าการวิเคราะห์เส้นทางวิกฤตช่วยลดระยะเวลาของโครงการได้ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน หลังจากที่คุณทำการวิเคราะห์แล้ว คุณจะมองเห็นงานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการลดระยะเวลา

นอกจากนี้ การจัดการโครงการด้วยเส้นทางวิกฤตยังทำให้ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงง่ายขึ้นอีกด้วย เมื่อคุณสร้างความเกี่ยวเนื่องกันของงานแล้ว การหาผลกระทบจากการพลาดกำหนดเวลาที่มีต่อการส่งมอบครั้งต่อไปจะกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่าย ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์เส้นทางวิกฤตยังช่วยให้ผู้จัดการโครงการมีกรอบการทำงานที่สมบูรณ์แบบในการวัดความก้าวหน้าที่แท้จริงของโครงการเทียบกับความก้าวหน้าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อติดตามผลลัพธ์ของคุณเทียบกับข้อมูลพื้นฐานเดิม คุณจะหาจุดที่ขาดประสิทธิภาพและดำเนินการกำจัดการขาดประสิทธิภาพดังกล่าวออกจากขั้นตอนการทำงานของคุณได้

เส้นทางวิกฤตเหมาะสำหรับฉันหรือไม่

การวิเคราะห์เส้นทางวิกฤตสามารถใช้กับโครงการประเภทใดก็ได้ ซึ่งรวมถึงการวิจัย งานวิศวกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาซอฟต์แวร์ การก่อสร้าง และงานอื่นๆ ถ้าโครงการที่คุณกำลังดำเนินการอยู่มีลักษณะดังต่อไปนี้ วิธีการหาเส้นทางวิกฤติอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

  • มีการกำหนดกิจกรรมเป็นอย่างดีและเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว จะเป็นการส่งสัญญาณว่าโครงการแล้วเสร็จ
  • มีการจัดระเบียบกิจกรรมและต้องดำเนินการตามลำดับ ยกตัวอย่างเช่น ต้องหาแหล่งวัสดุสำหรับโครงการก่อสร้างก่อนจึงจะเริ่มการก่อสร้างจริงได้
  • สามารถหยุดและเริ่มกิจกรรมได้อย่างอิสระตามลำดับที่กำหนด (นับกิจกรรมที่มีขั้นตอนการทำงานอย่างต่อเนื่อง เช่น การกลั่นน้ำมัน)

คุณจะเห็นได้ว่าการจัดการโครงการด้วยเส้นทางวิกฤตอาจเหมาะกับอุตสาหกรรมและโครงการที่หลากหลาย แต่คุณไม่จำเป็นต้องใช้เส้นทางวิกฤตอย่างเต็มรูปแบบเพื่อได้รับประโยชน์จากผลลัพธ์ที่ได้ ถ้ามีองค์ประกอบของ CPM ที่เหมาะกับคุณ การรวมวิธีการนี้เข้ากับกระบวนการจัดการโครงการของคุณก็อาจมีประโยชน์ ในท้ายที่สุดแล้ว ความสามารถในการปรับใช้ได้เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของผู้จัดการโครงการที่ประสบความสำเร็จ

การใช้เส้นทางวิกฤตกับทีมของคุณ

ตอนนี้ คุณได้ทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการหาเส้นทางวิกฤตแล้ว คุณควรคิดว่าจะใช้วิธีการนี้อย่างไรในองค์กรของคุณ Dropbox เสนอเครื่องมือสองสามอย่างที่สามารถช่วยคุณดำเนินการวิเคราะห์เส้นทางวิกฤตได้ ยกตัวอย่างเช่น Dropbox Paper สามารถช่วยคุณจัดการแผนงานโครงการทั้งหมดของคุณได้จากที่เดียว ทำให้วิธีการนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจำลองการจัดการโครงการด้วยเส้นทางวิกฤต ขั้นแรก ให้ใช้แม่แบบการวางแผนโครงการเพื่อแนะนำสมาชิกในทีมให้ทราบทุกขั้นตอนตลอดโครงการ จากนั้น ให้มอบหมายงานให้สมาชิกในทีมที่เหมาะสม สร้างรายการสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการของคุณดำเนินไปตามจังหวะที่เหมาะสมที่สุด และใช้เครื่องมือการจัดการงานเพื่อให้เห็นภาพรวมในระดับสูงเกี่ยวกับงานที่ทีมของคุณได้รับมอบหมาย

ความคิดสุดท้าย

ในท้ายที่สุด วิธีการหาเส้นทางวิกฤตช่วยให้คุณมีความชัดเจน นำเสนอภาพขั้นตอนการทำงานของทั้งโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ และการระบุ "เส้นทางวิกฤต" ยังช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่ามีการจัดสรรทรัพยากรให้กับงานที่สำคัญที่สุด และเพิ่มความเร็วที่ช่วยให้โครงการสำคัญแล้วเสร็จและมีการส่งมอบได้

ค้นพบวิธีที่ดีกว่าในการทำงานร่วมกัน

เริ่มต้นใช้งาน Dropbox Business