ลักษณะการทำงานกำลังเปลี่ยนไป การทำงานแบบไฮบริดและการทำงานที่เน้นรูปแบบเสมือนนั้นกำลังได้รับความนิยมมากกว่าที่เคย ส่วนการทำงานวันละ 8 ชั่วโมงแบบเดิมๆ ก็กำลังเสื่อมความนิยมลง ลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นนี้มีประโยชน์มากมายสำหรับพนักงาน ทั้งเวลาในการเดินทางที่ลดลง ไปจนถึงโอกาสที่นายจ้างจะดึงดูดผู้มีความสามารถที่อยู่นอกขอบเขตพื้นที่ของตนได้
แต่ผลกระทบของการทำงานรูปแบบนี้ที่มีต่อสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานนั้นเป็นอย่างไรกันล่ะ ในขณะที่เราเริ่มเข้าใจว่างานของเราจะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมนี้ได้อย่างไร พวกเราหลายคนก็เริ่มที่จะพบความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวกันบ้างแล้ว
หากคุณรู้สึกกดดันที่ต้องทำงานเป็นเวลานานขึ้นเมื่อทำงานจากที่บ้าน หรือตารางการทำงานของคุณเริ่มเบียดบังเวลาส่วนตัวของคุณ นั่นแสดงว่าคุณมาถูกที่แล้ว ก่อนที่เราจะลงลึกถึงเคล็ดลับในการเพิ่มสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน เรามาย้ำเตือนตัวเองกันก่อนว่าคำนี้จริงๆ แล้วมีความหมายอย่างไร
“สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (Work-Life Balance)” คืออะไร
เราได้ยินผู้คนและธุรกิจต่างๆ พูดถึงคำว่า “สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน” กันมากขึ้นในช่วงนี้ แต่จริงๆ แล้วคำนี้หมายถึงอะไร
ตามพจนานุกรมของ Cambridge สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานคือ “ระยะเวลาที่คุณใช้ในการทำงาน เทียบกับระยะเวลาที่คุณใช้กับครอบครัวและใช้ทำในสิ่งที่คุณชอบ”
เราแต่ละคนมีสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานแตกต่างกัน สำหรับพ่อแม่ที่ยังทำงานอยู่ สิ่งนี้อาจหมายถึงการมีเวลาไปรับไปส่งลูกที่โรงเรียนและเข้าร่วมกิจกรรมสำหรับลูก ในขณะเดียวกันก็สามารถก้าวหน้าในอาชีพการงานของคุณได้
สำหรับเจ้าของธุรกิจแบบคนเดียว ผู้มีอาชีพอิสระ หรือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานอาจเป็นเพียงการมีเวลารับประทานอาหารและนอนหลับอย่างเพียงพอในแต่ละวัน
แต่มีประเด็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดอยู่บางประการที่จะบ่งบอกถึงการมีสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่ดี ดังนี้
- การที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต้องทำได้ เช่น รับประทานอาหาร นอนหลับ และไปพบแพทย์ตามนัด
- การที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ต้องการจะทำได้ เช่น กิจกรรมยามว่างและงานอดิเรก
- การที่สามารถใช้เวลาร่วมกับเพื่อนฝูงและครอบครัวได้ โดยไม่คิดฟุ้งซ่านเกี่ยวกับงาน
- การที่ไม่ต้องกังวลเรื่องงานในตอนที่คุณไม่ได้ทำงาน
เหตุใดสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ
พวกเราส่วนใหญ่เข้าใจดีว่าการแยกชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานออกจากกันเป็นสิ่งสำคัญ แต่การที่จดจ่ออยู่กับสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานมากขึ้น บางครั้งจึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดสิ่งนี้จึงสำคัญ แม้จะมีเคล็ดลับ คำแนะนำ และสิ่งสนับสนุนต่างๆ อยู่มากมาย
สำหรับบางคน การนึกภาพสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานอาจเป็นเรื่องยาก เพราะพวกเขาไม่เคยมีสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานอย่างแท้จริงมาก่อน นี่คือเหตุผลว่าทำไมสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานจึงสำคัญมาก พูดง่ายๆ ก็คือชีวิตนี้ยังมีอะไรอีกมากมายนอกจากงาน!
ผู้ประกอบอาชีพทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจแบบคนเดียว ผู้มีอาชีพอิสระ หรือพนักงานสัญญาจ้าง ล้วนต้องการสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่ดี โดยมีเหตุผลหลายประการ ดังนี้
- เพื่อลดความเครียดและหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ
- เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น
- เพื่อให้มีประสิทธิภาพการทำงานและความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้น
เมื่อคุณมีเวลาให้จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงาน งานอดิเรก หรือเป็นเพียงการใช้เวลาคุณภาพกับครอบครัวและเพื่อนฝูง คุณก็จะบ่มเพาะความสามารถในการจดจ่ออยู่กับสิ่งที่คุณทำใน “ปัจจุบัน” มากขึ้น
ความท้าทายในการมีสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน และวิธีขจัดความท้าทายเหล่านั้น
เราได้อธิบายความหมายและเหตุผลว่าทำไมสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานจึงมีความสำคัญไปแล้ว แต่สัญญาณที่บ่งบอกว่าสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของคุณจำเป็นต้องมีการดูแลเอาใจใส่มีอะไรบ้าง
ด้านล่างนี้คืออุปสรรคทั่วไป 10 ประการของการมีสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน และทางแก้ไขของเราที่จะช่วยให้คุณ เพื่อนร่วมงาน และบริษัทของคุณเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นได้
1. วัฒนธรรมของบริษัท
เรามักคิดว่าวัฒนธรรมของบริษัทคือสภาพแวดล้อมการทำงานทั้งเชิงสังคมและเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันในสำนักงานหรือพื้นที่ทำงานส่วนตัว เป็นต้น
แต่วัฒนธรรมของบริษัทยังหมายถึงค่านิยมที่ขับเคลื่อนบริษัทอีกด้วย หลักการที่บริษัทยึดถือ ทั้งภายในระหว่างพนักงานและภายนอกกับผู้ใช้บริการหรือลูกค้า จะกำหนดมาตรฐานหรือความคาดหวังบางอย่างที่หลอมรวมเป็นวัฒนธรรมการทำงาน
การรับรู้ถึงวัฒนธรรมที่บริษัทสร้างขึ้นควรได้รับการปลูกฝังเพื่อส่งเสริมการเติบโต แต่การไปถึงจุดหมายและการบรรลุเป้าหมายนั้นไม่ควรส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจของพนักงาน คงไม่มีใครอยากอยู่รอนานพอที่จะเห็นบริษัทบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น หากพนักงานรู้สึกว่าความพยายามของพวกเขาไม่ได้รับการชื่นชม หรือความคิดเห็นของพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับ
“วัฒนธรรม” ไม่ควรบีบบังคับให้ใครก็ตามให้ต้องกลายเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะระดับจูเนียร์หรือระดับอาวุโส สำหรับผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา บริษัทที่มีคณะกรรมการด้านสังคมที่กระตือรือร้นอาจเป็นที่ที่เหมาะสม แต่สำหรับพนักงานที่มีประสบการณ์มากกว่าและมีเรื่องอื่นที่ต้องให้ความสำคัญ (เช่น ครอบครัว) การรู้สึกถูกบังคับให้เข้าร่วมการดื่มสังสรรค์หลังเลิกงานทุกสัปดาห์ (ยกตัวอย่าง) อาจกลายเป็นภาระได้
ทางแก้ไข: สำหรับนายจ้าง ให้ตระหนักว่าความสนุกที่เกิดจากการบังคับนั้นไม่ค่อยมีใครสนุกหรอก ใช้เครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกัน เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพูดคุยเกี่ยวกับการโหวตเลือกกิจกรรมของทีม
สำหรับพนักงาน การเอาชนะอุปสรรคนี้สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงสัมภาษณ์และช่วงการเตรียมความพร้อมสำหรับพนักงานใหม่ คุณสามารถติดต่อพนักงานปัจจุบันและสอบถามว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับวัฒนธรรมของบริษัท เพื่อเรียนรู้ว่าวัฒนธรรมนี้เหมาะกับคุณหรือไม่
2. นโยบายของบริษัท
วิธีที่บริษัทวางโครงสร้างวัฒนธรรมในที่ทำงานมักขึ้นอยู่กับนโยบาย ซึ่งครอบคลุมสิ่งต่างๆ มากมาย รวมถึงชั่วโมงการทำงาน การลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ และการเข้าถึงยังความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต
หากปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ นโยบายก็อาจล้าสมัยได้ คุณก็เห็นแล้วว่าการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้เปลี่ยนลำดับความสำคัญและรูปแบบการทำงานไปอย่างรวดเร็วเพียงใด
นโยบายของบริษัทกลายเป็นความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานเมื่อพนักงานเริ่มรู้สึกว่าถูกจำกัด ตัวอย่างเช่น พนักงานอาจขาดโอกาสในการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งช่วยให้พนักงานสามารถทำงานนอกชั่วโมงการทำงานวันละ 8 ชั่วโมงแบบเดิมๆ ได้
ทางแก้ไข: สำหรับหัวหน้า ลองสนับสนุนให้พนักงานเปิดใจถึงวิธีที่คุณสามารถทำให้งานของพวกเขาจัดการได้ง่ายมากขึ้น เพื่อไม่ให้งานนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวของพวกเขา โดยอาจเพิ่มการสนับสนุนสำหรับพ่อแม่และผู้ดูแล หรือเพิ่มช่วงพักกลางวันให้นานขึ้น เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าร่วมรับฟังการให้คำปรึกษา การบริการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต หรือการนัดหมายทางการแพทย์
3. ผู้บริหาร
ผู้จัดการเป็นส่วนสำคัญของกระบวนสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีภาระงานและการจัดการงานมาเกี่ยวข้อง ผู้จัดการไม่ได้เป็นเพียงผู้ที่มอบหมายงานให้กับสมาชิกในทีมเท่านั้น แต่ยังมักเป็นที่พึ่งแรกเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นอีกด้วย
ปัญหาในการทำงานอาจแย่ลงกว่าเดิมได้หากคุณรู้สึกว่าคุณไม่สามารถพูดคุยกับผู้จัดการของคุณเกี่ยวกับสิ่งที่รบกวนจิตใจของคุณอยู่ได้ และจะแย่ยิ่งกว่านั้นหากผู้บริหารโดยรวมขาดการฝึกอบรมเพื่อจัดการกับเรื่องที่ซับซ้อนอย่างเช่นสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน
นอกจากนี้ ผู้จัดการยังอาจเป็นสาเหตุของการมีสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่แย่ได้ การที่ผู้จัดการกดดันคุณและเพื่อนร่วมงานให้ใช้เวลาและทรัพยากรมากเกินไป หรือบีบบังคับให้คุณทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือ KPI ที่กำหนดก็อาจทำให้คุณหมดไฟได้
ทางแก้ไข: ผู้จัดการและหัวหน้างานควรได้รับการฝึกอบรมให้สังเกตสัญญาณความเครียดและการมีสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่ไม่ดีของเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนการฝึกอบรมให้ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานเพื่อช่วยให้พวกเขาจัดการปัญหานี้ได้
4. โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง
คุณเชื่อได้ยากว่าคุณควรประสบความสำเร็จ และชดเชยสิ่งนี้ด้วยการทำงานหนักเกินไปใช่หรือไม่ หรือคุณคิดว่าตนเองไม่ได้มีความสามารถอย่างที่คนอื่นมองหรือเปล่า สัญญาณสองข้อนี้เป็นสัญญาณของโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง
สำหรับหลายๆ คนแล้ว โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสงสัยในตัวเองเพียงเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นการขาดความมั่นใจในการทำงานของตน ความอ่อนไหวต่อข้อผิดพลาดหรือคำวิจารณ์เล็กๆ น้อยๆ ง่ายจนเกินไป ความกลัวอย่างรุนแรงว่าจะทำให้ผู้อื่นผิดหวัง และภาวะหมดไฟจากการกดดันตัวเองมากเกินไป
จากการวิจัยของ Asana พบว่า 62% ของพนักงานที่มีความรู้ (เช่น โปรแกรมเมอร์ บรรณาธิการ นักกฎหมาย และนักวิชาการ) ทั่วโลกรายงานว่าตนประสบกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง และที่จริงแล้วพนักงานในระดับอาวุโสนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคดังกล่าวมากกว่าสมาชิกในทีมที่อยู่ในระดับจูเนียร์
ทางแก้ไข: มีหลายสิ่งที่บริษัทสามารถทำได้เพื่อจัดการกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง สิ่งเหล่านี้รวมถึงความโปร่งใสในเป้าหมายขององค์กร การพัฒนาการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาหรือโปรแกรม “บัดดี้” และการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต
ในระดับบุคคล เมื่อรู้สึกว่าโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งคืบคลานเข้ามา ให้ใช้เวลาสักระยะเพื่อมุ่งเน้นไปพิจารณาที่ข้อเท็จจริงต่างๆ ถอยกลับมาและมองภาพรวม เตือนตัวเองถึงทักษะและประสบการณ์ที่คุณได้นำมาใช้ในบทบาทนี้ แทนที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ให้พิจารณาว่าคุณมาไกลแค่ไหนเทียบจากปีที่แล้วหรือห้าปีที่ผ่านมา
คุณควรใช้ประโยชน์จากโอกาสต่างๆ เพื่อเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานของคุณให้มากที่สุด จัดประชุมกับที่ปรึกษาหรือหัวหน้างาน จดบันทึกประเด็นที่โดนใจที่สุด และจัดเก็บข้อมูลนี้ไว้ในที่ที่คุณสามารถกลับมาดูได้ง่ายๆ เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มรู้สึกถึงโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง
คุณยังสามารถสร้างเอกสารใน Dropbox Paper เพื่อเก็บคำชื่นชมต่างๆ ข้อความดีๆ จากเพื่อนร่วมงาน และข้อมูลสรุปความสำเร็จของคุณได้อีกด้วย โดยให้ย้อนกลับมาดูสิ่งนี้เมื่อโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งเริ่มคืบคลานเข้ามา เพื่อให้คุณย้ำเตือนตัวเองถึงความสำเร็จอันยอดเยี่ยมของคุณได้
นอกจากนี้ ผู้จัดการควรปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างด้วย ซึ่งพฤติกรรมที่ผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพควรแสดงให้พนักงานเห็น ได้แก่
- หาเวลาพักและไม่ทำงานนอกเวลางานปกติ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ทีมของคุณรู้สึกว่าพวกเขาทำงานไม่หนักพอ และทำให้ความรู้สึกถึงโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งมากยิ่งขึ้น
- รับทราบและแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับภาวะหมดไฟหรือโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งของตน
- พูดคุยเพื่ออัพเดทกับสมาชิกในทีมเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม
- แบ่งปันข้อคิดเห็นที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริงกับสมาชิกในทีมของคุณเป็นประจำตั้งแต่เนิ่นๆ
- ชื่นชมสมาชิกในทีมสำหรับงานที่ทำได้ดี
5. การสื่อสารแบบตลอดเวลา
การสนทนาเป็นกลุ่มกับเพื่อนร่วมงานและการติดตามกันบนโซเชียลมีเดียอาจเป็นเรื่องสนุกหากคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่บางครั้งสิ่งนี้ก็ทำให้กลับสู่ “โหมดการทำงาน” ได้ง่ายเกินไป หรือไม่เคยได้ออกจากโหมดดังกล่าวได้อย่างแท้จริง
การแยกชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกันนั้นจะยากยิ่งขึ้นไปอีก หากคุณมีแอปที่เกี่ยวข้องกับงานอยู่ในโทรศัพท์ส่วนตัว เช่น Google Spaces หรือ Gmail สิ่งเหล่านี้อาจมีประโยชน์หากคุณเป็นคนที่ทำงานระหว่างเดินทางเป็นประจำ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เชื้อเชิญให้ดูอีเมลงานนอกเวลางานหรือในช่วงวันหยุด เพียงเพื่อติดตามดูการแจ้งเตือนของคุณ
ทางแก้ไข: พยายามปิดการแจ้งเตือนเรื่องงานบนโทรศัพท์ของคุณให้เป็นนิสัยทันทีที่คุณทำงานเสร็จสิ้นในแต่ละวัน
ในระดับทั่วทั้งบริษัท ผู้บริหารอาจสนับสนุนแนวทางการสื่อสารแบบอะซิงโครนัสให้มากขึ้น การสื่อสารเช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลาระหว่างการรับและการตอบกลับข้อมูลเกิดขึ้นไม่พร้อมกันหรือมีความล่าช้า โดยปกติแล้วจึงไม่จำเป็นต้องตอบข้อความหรืออีเมลในทันที
คุณยังสามารถนำเครื่องมือต่างๆ เช่น Dropbox Capture มาใช้ในการทำงานปกติได้เช่นกัน โดยการประชุมและข้อความวิดีโออื่นๆ เช่น วิดีโอการฝึกอบรม จะได้รับการบันทึกและแบ่งปันไว้ล่วงหน้า ดังนั้นจึงสามารถแบ่งปันและดูเนื้อหาได้ในภายหลัง
เมื่อพนักงานมีเวลาที่จะรับข้อมูลตามเวลาที่สะดวกของตน โดยมีความกดดันให้ต้องรีบตอบกลับน้อยลง พวกเขาก็จะมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะหมดไฟจากความต้องการต่างๆ น้อยลง และมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. ลำดับความสำคัญของงานที่ไม่ชัดเจน
เมื่องานกลายเป็นแบบดิจิทัลมากขึ้น พนักงานบางคนพบว่าจริงๆ แล้วงานของตนเป็นการรวมหลายบทบาทมาไว้ในคนๆ เดียว ตัวอย่างเช่น “ผู้สร้างเนื้อหา” สามารถจัดการโซเชียลมีเดีย เนื้อหาภายในองค์กร การตลาดทางอีเมล และอื่นๆ อีกมากมาย
การเป็นเช่นนี้หมายความว่าการระบุลำดับความสำคัญในวันๆ หนึ่งอาจเป็นเรื่องยาก โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งก็จะเริ่มคืบคลานเข้ามา และเป็นการยากที่จะทำให้งานในวันนั้นให้เสร็จสิ้น
ทางแก้ไข: กำหนดขอบเขตกับเพื่อนร่วมงานของคุณ เพื่อไม่ให้คุณทำงานหนักจนเกินไป! ใช้ทรัพยากรการจัดการงานใน Dropbox Paper เพื่อสร้างแผนการทำงานของทีมและแผนโครงการ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าใครกำลังทำอะไรอยู่บ้างและทำสิ่งเหล่านั้นเมื่อใด
ถ้าคุณอยากจะยึดอยู่กับกิจวัตรที่เคร่งครัดและทำงานให้เสร็จในเวลา 5 โมงเย็น ให้พิจารณาว่างานใดมีความสำคัญในแง่ของเวลามากกว่า และให้ความสำคัญกับงานที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมงข้างหน้าก่อน ด้วยวิธีนี้ คุณจะไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับรายการสิ่งที่ต้องทำเมื่อคุณเลิกงานในแต่ละวัน
7. ความไม่มั่นคงในงาน
ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเจ้าของธุรกิจแบบคนเดียว ผู้มีอาชีพอิสระ และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก เราหลายคนผูกมัดตัวตนส่วนหนึ่งไว้กับอาชีพของเรา และให้ความสำคัญกับงานในฐานะเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จ และแม้ว่าจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ความมั่นคงทางการเงินของตนนั้นก็ขึ้นอยู่กับงานที่ทำ
ความไม่แน่นอนของตลาดแรงงานนั้นส่งผลกระทบต่อพนักงานจำนวนมากในปัจจุบัน โดยการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการมีชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัวว่าจะตกงานอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณมากกว่าการตกงานจริงๆ ความรู้สึกไม่แน่นอนและความวิตกกังวลอาจผลักดันให้คุณทำงานมากขึ้นในที่ทำงาน จนไปถึงจุดที่ตารางการทำงานเริ่มรบกวนชีวิตส่วนตัวของคุณ
ทางแก้ไข: ประการแรก สิ่งสำคัญคือต้องรับทราบและยอมรับว่าคุณกำลังรู้สึกอย่างไร จากนั้นคุณจะสามารถใช้การตระหนักรู้ในตนเองนี้เพื่อระบุและทำความเข้าใจว่าสถานการณ์ของคุณด้านใดที่คุณสามารถควบคุมได้ สิ่งนี้จะช่วยให้คุณได้มุมมองบางอย่างกลับคืนมา และช่วยให้คุณพิสูจน์คุณค่าของคุณทั้งที่ทำงานและที่บ้าน
คุณควรเต็มใจและพร้อมที่จะยอมรับหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ให้มองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส และเป็นหนทางในการเติบโตและการเรียนรู้ และให้ทำงานเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ โดยกำหนดแผนการเติบโตส่วนบุคคล (PGP) โดยใช้ Dropbox Paper เพื่อร่างแผนเกี่ยวกับอาชีพและเป้าหมายการพัฒนาของคุณ
8. วัฒนธรรมการทำงานพิเศษ
วัฒนธรรมคลั่งงานเป็นที่นิยมในหมู่คนบ้างาน ซึ่งทำให้การทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนดูดีเกินความเป็นจริง โดยวัฒนธรรมการทำงานพิเศษนั้นเกิดจากวัฒนธรรมดังกล่าว และเป็นแรงจูงใจให้มีงานรอง นอกเหนือจากงานประจำเพื่อหารายได้เสริม
การมีงานพิเศษอาจเป็นช่องทางที่ดีสำหรับการใช้ความคิดสร้างสรรค์และเป็นโอกาสที่คุณจะได้ทำโครงการที่คุณหลงใหลอย่างแท้จริง หากประสบความสำเร็จ งานพิเศษนั้นก็อาจนำไปสู่อาชีพอิสระที่รุ่งโรจน์ อย่างไรก็ตาม การมีงานพิเศษต้องอาศัยการจัดการที่ดี คุณคงไม่อยากใช้เวลาแปดชั่วโมงต่อวันในการทำงานประจำของคุณ แล้วอุทิศทุกนาทีที่ว่างในตอนเย็นและวันหยุดสุดสัปดาห์ให้กับงานพิเศษของคุณหรอก
ทางแก้ไข: วางแผนและจัดการเวลาของคุณด้วย Dropbox Paper และเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอื่นๆ สร้างความคาดหวังส่วนตัวว่าวันทำงานที่ “ดี” ของคุณนั้นเป็นอย่างไร โดยคุณจะต้องมีเวลารับประทานอาหาร พักผ่อน และทำอย่างอื่นนอกเหนือจากงาน!
9. “การมาทำงานแม้จะไม่พร้อม” และความรู้สึกผิดของพนักงาน
คุณเคยใช้เวลาทำงานมากกว่าที่ควรแม้ในขณะที่คุณจะเจ็บป่วยหรือไม่ สิ่งนี้เรียกว่า “presenteeism” หรือ “การมาทำงานแม้จะไม่พร้อม” ซึ่งหมายถึงการที่คุณไปทำงาน (หรือออนไลน์หากคุณทำงานจากระยะไกล) แต่คุณไม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเลย และในความเป็นจริงแล้วอาจมีแนวโน้มที่จะทำผิดพลาดด้วย
สิ่งนี้เป็นปัญหาใหญ่ในวัฒนธรรมของบริษัท โดยที่การทำงานหลายชั่วโมงและการทำงานดึกดื่นในสำนักงานถูกมองว่าเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มักปลูกฝังโดยผู้บริหาร พฤติกรรมนี้อาจทำให้พนักงานรู้สึกผิดที่ทำงานเสร็จในชั่วโมงปกติหรือขอเวลาพักผ่อน หรือดูเหมือนว่าพวกเขาไม่เคยทำงานได้มากพอที่จะพิสูจน์ตัวเองได้
ทางแก้ไข: สิ่งนี้ต้องเริ่มต้นที่ระดับบนสุดจริงๆ โดยมีผู้บริหารและพนักงานอาวุโสเป็นผู้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
สนับสนุนให้เพื่อนร่วมงานของคุณ “เลิกงาน” ให้ตรงเวลา อย่าส่งอีเมลที่มุ่งเน้นงานในช่วงใกล้จะหมดวัน (โดยเฉพาะในวันศุกร์!) โดยคาดหวังว่าจะมีการดำเนินการกับงานนั้นในทันที แสดงความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจเมื่อเพื่อนร่วมงานของคุณลาป่วย อย่าทำให้พวกเขารู้สึกแย่กว่าเดิมด้วยการย้ำเตือนที่ทำให้ตื่นตระหนกว่าพวกเขาต้องทำงานหนักแค่ไหนเมื่อหายป่วยกลับมา
10. การไม่มีสถานที่ทำงานแยกต่างหาก
การทำงานจากระยะไกลได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การทำงานรูปแบบนี้มีข้อดีหลายประการ แต่สำหรับหลายๆ คนแล้วกลับทำให้ไม่สามารถแยกพื้นที่สำหรับ “ชีวิตการทำงาน” และ “ชีวิตที่บ้าน” ออกจากกันได้
ข้อจำกัดด้านพื้นที่เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับพนักงานที่ทำงานที่บ้านหลายคน ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีพื้นที่สำหรับใช้เป็นสำนักงานโดยเฉพาะ หรือมีห้องว่างสำหรับใช้ทำงานได้ การใช้ชีวิตและทำงานในที่เดียวกันอาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าได้ในบางครั้ง เพราะคุณไม่เคย “ออก” จาก “ที่ทำงาน” ได้อย่างแท้จริง ดังนั้น คุณอาจลงเอยด้วยการที่ต้องทำงานนานขึ้น เมื่อเทียบกับการทำงานในสำนักงาน
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แค่พื้นที่ทางกายภาพเท่านั้น คุณเคยใช้แล็ปท็อปส่วนตัวในการทำงานหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว คุณก็จะรู้ว่าการผสมผสานระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานนั้นง่ายเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่มีระบบไฟล์ที่เข้มงวดพร้อมให้ใช้งาน!
ทางแก้ไข: ในฐานะผู้จัดการหรือหัวหน้างาน อย่ากลัวการทำงานจากระยะไกล! นายจ้างต้องพร้อมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานแบบไฮบริดหรือการทำงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากกระบวนการเตรียมความพร้อมสำหรับพนักงานใหม่ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมสำหรับพนักงาน ตลอดจนการรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุขภาวะที่ดีและความพึงพอใจในงานจากพนักงานที่ทำงานจากระยะไกล
ในระดับบุคคล ให้พยายามรักษาระบบไฟล์ที่เป็นระเบียบซึ่งแยกไฟล์งานและไฟล์ส่วนตัวออกจากกัน โดยบริการพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์ของ Dropbox นั้นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับสิ่งนี้
จงทำงานเพื่อมีชีวิตอยู่ อย่ามีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน
การหาสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานที่ดีกว่าเดิมเป็นกระบวนการแบบต่อเนื่อง น่าเสียดายที่กระบวนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน สถานการณ์ของคุณอาจเปลี่ยนไป ซึ่งหมายความว่า “สมดุล” ของคุณอาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญของคุณ
คุณจะต้องมีทรัพยากรบางอย่างเพื่อช่วยให้คุณเข้าใจว่าลำดับความสำคัญเหล่านี้สอดคล้องกับวิธีการใช้เวลาของคุณหรือไม่ Dropbox จะทำให้คุณได้มีพื้นที่ที่ปลอดภัยและใช้งานง่ายสำหรับการค้นหาว่าสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานเป็นอย่างไร
Dropbox มีเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณดำเนินการแยกงานและชีวิตอย่างสมดุลยิ่งขึ้น โดยมีตั้งแต่บัญชีของทีมและบัญชีส่วนตัวต่างๆ เพื่อแยกไฟล์ “งาน” และไฟล์ “เรื่องส่วนตัว” ของคุณออกจากกัน ไปจนถึงคุณสมบัติที่เป็นนวัตกรรมใหม่และการผสานการทำงานที่ช่วยให้คุณทำงานได้อย่างยืดหยุ่น