Skip to content (Press Enter)

ความฉลาดทางอารมณ์ในที่ทํางาน

เรียนรู้เกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์และความสำคัญที่มีต่อสถานที่ทำงานยุคใหม่

true

ความฉลาดทางอารมณ์คืออะไร

ความฉลาดทางอารมณ์เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1990 ซึ่งเป็นหัวข้อการอภิปรายเชิงวิชาการ และได้รับแรงผลักดันอย่างรวดเร็วให้เป็นส่วนสำคัญของจิตวิทยาธุรกิจและการศึกษาการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงาน

โดยทั่วไปจะเรียกกันว่า EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่กันกับ IQ (ความฉลาดทางสติปัญญา) พนักงานที่มี EQ สูงจะมีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ มีแรงผลักดัน และสร้างผลงานได้มากกว่า EQ มีความสำคัญมากกว่าหรือเท่ากับ Hard Skill และคุณวุฒิ

อธิบายง่ายๆ คือ ความฉลาดทางอารมณ์หมายถึงความสามารถในการตีความ เข้าใจ และจัดการอารมณ์ของทั้งตัวเองและคนรอบข้างได้ เป็นเรื่องของการควบคุมสติอารมณ์ภายใต้ความกดดัน การช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกสบายใจ และการเข้าใจว่าพฤติกรรมของคุณส่งผลกระทบต่อคนแวดล้อมของคุณได้อย่างไร

ในขณะที่ IQ มีเป้าหมายเพื่อวัดความสามารถทางสติปัญญา แต่ความฉลาดทางอารมณ์ฝังอยู่ในพฤติกรรมของเรา ซึ่งในตอนแรกอาจจะดูเป็นนามธรรมหรือไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ แต่จิตใจของเราเป็นระบบ และสิ่งสำคัญคือการปฏิบัติดูแลจิตใจเหมือนกับการดูแลระบบ ในฐานะมนุษย์ เรามีความตระหนักรู้ในการจัดการ ปรับเปลี่ยน และปรับปรุงระบบ เพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างดีที่สุด และการดำเนินการดังกล่าวสามารถและควรนำไปใช้กับสุขภาวะทางอารมณ์ของเราเอง

บุคคลหนึ่งอาจมีความเชี่ยวชาญที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับงาน แต่ถ้าไม่สามารถสื่อสารได้ภายในทีม และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ จะส่งผลเสียต่อคุณภาพของงาน

วิธีการเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์

มนุษย์ทุกคนมีความฉลาดทางอารมณ์ การมีความฉลาดทางอารมณ์สูงเป็นเพียงการรู้วิธีที่จะนำมาใช้และเพิ่มความฉลาดนั้น

จากการทำงานอย่างอย่างครอบคลุมของ Daniel Goleman นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรม ในการศึกษาและกำหนดลักษณะของความฉลาดทางอารมณ์ เขาได้สรุปทักษะหลัก 5 ประการที่ต้องได้รับการปลูกฝังเพื่อให้มี EQ สูง ดังนี้

1. ความตระหนักรู้ในตนเอง

ขั้นตอนแรกสู่ความฉลาดทางอารมณ์ที่สมบูรณ์ คือการเข้าใจอารมณ์ของคุณเอง เราทุกคนมีประสบการณ์และแสดงออกถึงสถานะทางอารมณ์ต่างๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน และยิ่งคุณเข้าใจวิธีการจัดการกับอารมณ์ได้เองมากขึ้น คุณยิ่งเข้าใจถึงมุมมองของผู้คนที่อยู่รอบตัวคุณได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ การตระหนักรู้ในตนเองไม่ใช่เพียงการตระหนักรู้ทางอารมณ์ แต่ยังเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจความแตกต่างของตัวตน พฤติกรรม และทัศนคติของคุณด้วย การตระหนักรู้ในตนเองเป็นเรื่องของการรู้ว่าคนอื่นมองคุณและตอบสนองต่อคุณอย่างไร และเป็นเรื่องของการรู้ว่าการกระทำของคุณส่งผลต่อคนแวดล้อมของคุณอย่างไร

นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่าการตระหนักรู้ในตนเองตามมุมมองของผู้อื่น เป็นการรับรู้ว่าผู้อื่นมองคุณอย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเป็นกังวลมากเกินไปว่าผู้คนมองคุณอย่างไร แต่เป็นความสามารถในการประเมินอย่างเป็นกลางและรับรู้ว่าคนอื่นมองคุณอย่างไรและเข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ดังนั้นคุณจะตระหนักรู้ในตนเองได้อย่างไร

อารมณ์อาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่อยู่ในใจเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงเราสามารถรับรู้และแสดงอารมณ์ออกมาทางกายได้ ซึ่งเราเรียกว่าการตระหนักรู้ในตนเองตามมุมมองของตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณโกรธ คุณอาจรู้สึกว่า "เลือดสูบฉีด" เมื่อคุณกังวล คุณอาจรู้สึก "มวนท้อง" หรือรู้สึกตัวสั่น เมื่อคุณมีความสุข คุณอาจรู้สึกตัวเบาและมีพลังมากขึ้น

หากคุณสามารถจดจำข้อบ่งชี้ทางกายภาพเหล่านี้ในตัวคุณเองได้ และทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใดและเพราะอะไร คุณจะสามารถเข้าใจ คาดการณ์ และจัดการกับอารมณ์ของคุณได้ดีขึ้น

ความรู้สึกหลายอย่างเป็นการสะท้อนตัวตนของคุณ ให้ใช้เวลาสักครู่เพื่อหยุดและถามตัวเองว่าคุณรู้สึกอย่างไรและถามตัวเองว่าคุณมีส่วนร่วมอย่างไรในที่ทำงานของคุณ หากคุณรู้สึกว่าเกิดความขัดแย้งหรือการสื่อสารผิดพลาดภายในทีมของคุณ ให้ประเมินสาเหตุที่เป็นไปได้ และดูว่ามีสิ่งใดที่คุณพูดหรือกำลังทำอยู่ที่อาจทำให้ยังคงมีปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง

ให้ความสนใจกับความคิดและความรู้สึกของคุณ และพยายามทำความเข้าใจว่าสถานการณ์ที่แตกต่างกันอาจส่งผลกับคุณหรือกระตุ้นปฏิกิริยาทางอารมณ์ได้ ในขณะที่คุณทำงาน ให้ถามว่าคุณจะสร้างผลงานได้เหมือนกันในยามที่คุณรู้สึกท้อแท้กับในยามที่คุณมีความสุขหรือไม่ และตั้งเป้าหมายเพื่อให้รู้ว่าความคิดของคุณส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานและความสามารถในการสร้างผลงานของคุณอย่างไร

สัญชาตญาณมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความฉลาดทางอารมณ์ สัญชาตญาณเป็นเรื่องของการรับรู้สถานการณ์ของเรา และเราสามารถใช้สัญชาตญาณเพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง นั่นไม่ได้เป็นการบอกว่าคุณควรทำตามสัญชาตญาณของคุณตลอดเวลาหรือไม่ควรสนใจสัญชาตญาณของคุณเลย แต่คุณควรรับรู้และตรวจสอบเพื่อให้เข้าใจมุมมองและอารมณ์ของคุณเองได้ดีขึ้น

การตระหนักรู้ในตนเองยังหมายถึงการรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของคุณ และอยู่บนพื้นฐานของความจริงเกี่ยวกับความสามารถของคุณ การรู้จุดอ่อนของคุณเป็นขั้นตอนแรกในการเอาชนะจุดอ่อนเหล่านั้น ในขณะที่การรู้จุดแข็งของคุณช่วยสร้างแรงจูงใจและสุขภาวะทั่วไป

2. การควบคุมตนเอง

เมื่อคุณรู้วิธีจดจำและแยกแยะอารมณ์ของคุณได้แล้ว คุณจะเริ่มจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นได้ หากคุณยอมให้อารมณ์เข้ามาครอบงำการทำงาน คุณอาจจะทำงานไม่ได้เต็มความสามารถ การควบคุมตนเองหมายถึงการไม่ยอมให้ตัวเองติดอยู่กับปัจจัยภายนอก แต่ยอมให้ตัวเองมีสมาธิกับงานที่กำลังทำ

เราทุกคนมีความคิดและความคิดเห็นของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือการรู้ว่าจะแสดงความคิดและความคิดเห็นเหล่านั้นในที่ทำงานได้อย่างไรและเมื่อใด หากคุณไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของคุณได้ อาจทำให้คนอื่นมองว่าคุณไม่น่าเชื่อถือหรือเป็นคนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ควรแสดงออกหรือเปิดเผยความรู้สึกของคุณ แต่การจัดการตนเองหมายถึงการรับมือกับอารมณ์ของคุณอย่างเหมาะสม เป็นมืออาชีพ และมีสติ

วิธีการควบคุมตนเอง

หลีกเลี่ยงการตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่นและการกระทำที่ไม่มีการวางแผน การคิดก่อนที่จะลงมือทำเป็นส่วนสำคัญของการควบคุมตนเอง ให้พิจารณาว่าการกระทำหรือคำพูดของคุณอาจส่งผลกระทบต่อคนแวดล้อมและทีมของคุณอย่างไร และถามว่าคุณกำลังสื่อสารความคิดของคุณในรูปแบบที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพที่สุดหรือไม่

การควบคุมตนเองเป็นสิ่งที่จะช่วยคุณในที่ทำงานอย่างแน่นอน แต่คุณยังสามารถและควรนำเทคนิคที่อยู่เบื้องหลังมาใช้นอกเวลางานด้วย การมีความกระตือรือร้นและมีงานอดิเรกนอกจากการทำงาน การนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ ตลอดจนการหาวิธีปลดปล่อยความโกรธหรือความหงุดหงิดได้อย่างปลอดภัยและเป็นประโยชน์ ล้วนมีความสำคัญต่อการควบคุมอารมณ์ของคุณ และทำให้พลังงานของคุณมีความสมดุล เพื่อที่คุณจะไม่นำความรู้สึกเชิงลบมาใช้ในที่ทำงาน

เครื่องมือและเทคนิคที่อยู่เบื้องหลังการควบคุมตนเองเหมือนกันกับสิ่งที่ปฏิบัติในการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ซึ่งได้รับออกแบบมาเพื่อช่วยให้เราจัดการปัญหาของตนเองได้โดยการปรับกระบวนการคิดและพฤติกรรมของเรา CBT มักใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตและความผิดปกติทางอารมณ์ แต่สามารถนำเทคนิคและทักษะที่สอนไปใช้เพื่อช่วยในการควบคุมตนเองได้อย่างแน่นอน

เทคนิคหลักบางส่วน ได้แก่

  • การแยกย่อยปัญหาและข้อกังวลของคุณ หากคุณยอมให้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ จำนวนมากมารวมกันเป็นปัญหาใหญ่ การแก้ปัญหาก็จะยิ่งเป็นเรื่องที่ยากมากๆ

  • การแยกแยะระหว่างปัญหาที่สามารถแก้ไขได้และปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ แล้วตั้งใจแก้ไขในสิ่งที่แก้ได้

  • การทุ่มเทเวลาให้โดยเฉพาะเพื่อจัดการกับปัญหาที่เฉพาะเจาะจง และการพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่นึกถึงปัญหาจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหากลายเป็นภาระของคุณตลอดทั้งวัน

  • การฝึกการมีสมาธิ ให้เวลาตัวเองได้ตั้งสติพักหายใจและแยกตัวเองออกจากปัญหาของคุณ

  • การถอยมามองปัญหาที่คุณเผชิญจากมุมมองของคนนอก

  • การจดบันทึกความรู้สึกของคุณ ซึ่งจะช่วยให้เห็นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและกลั่นกรองปัญหาที่คลุมเครือ รวมถึงหาวิธีแก้ปัญหาที่สามารถดำเนินการได้

หากคุณรู้สึกผิดหวัง หงุดหงิด หรือมีอารมณ์เชิงลบมากเกินไป ให้ดำเนินการเพื่อบรรเทาความรู้สึกเหล่านั้น และเปิดใจกับเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับประสบการณ์ของคุณ

การฝึกฝนการควบคุมตนเองจะช่วยให้คุณปรับตัวได้ดีขึ้นในสถานที่ทำงานและจะช่วยให้คุณมีสมาธิอยู่เสมอ หากคุณจัดการและจัดลำดับความสำคัญของปัญหาทางอารมณ์ได้ คุณจะสามารถจัดการและจัดลำดับความสำคัญของภาระงานได้เช่นกัน

3. แรงจูงใจ

แรงจูงใจภายใน หมายถึง ผู้ที่กำหนดและไล่ตามเป้าหมายเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่แรงจูงใจที่เกิดจากเงินทอง ชื่อเสียง หรือการประสบความสำเร็จ แต่เป็นแรงจูงใจที่เกิดจากความหลงใหลและความพึงพอใจส่วนตัว

การมีความซื่อสัตย์ต่อตำแหน่งหน้าที่ของคุณและรู้ว่าการทำงานหนักของคุณไม่ได้มีเงินเป็นแรงผลักดัน แต่เป็นความทะเยอทะยานส่วนตัว จะช่วยให้คุณทำงานได้ดีขึ้นและสร้างผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น แน่นอนว่าความมุ่งมั่นเพื่อให้ได้รับการชื่นชมและการประสบความสำเร็จทางการเงินไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ถ้านั่นคือเหตุผลทั้งหมดที่คุณทำงาน คุณอาจไม่เคยรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตการทำงานอย่างแท้จริง คุณไม่ควรทำงานหนักเพื่อเอาใจเจ้านายและลูกค้าของคุณ แต่คุณควรมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จส่วนตัวที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น โดยการเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์

วิธีการรักษาแรงจูงใจในการทำงาน

หากคุณกำลังพยายามหาแรงบันดาลใจในการทำงาน ให้ถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วคุณกำลังมองหาอะไรในตำแหน่งและอาชีพการงานของคุณ แล้วถามตัวเองจนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน หาสิ่งที่เป็นแรงผลักดันคุณ สิ่งที่คุณต้องการเป็นในอนาคต และสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น

ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายและสมจริงซึ่งจะช่วยให้ความหลงใหลและความปรารถนาส่วนตัวของคุณเป็นจริง เพื่อให้คุณรู้วิธีและเหตุผลที่คุณทำงานเพื่อตัวเองแม้ในขณะทีุุ่คณกำลังทำงานเพื่อคนอื่น การตั้งเป้าหมายเป็นประจำเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมเพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจและส่งเสริมความสามารถในการสร้างผลงาน

มีสมาธิกับการใช้พลังงานของคุณในส่วนของงานที่คุณชอบ และให้เหตุผลกับตัวเองเพื่อทำความเข้าใจว่าส่วนของงานที่คุณไม่ชอบอาจมีความจำเป็นเพื่อให้คุณทำในส่วนที่คุณชอบ ใช้แง่มุมของงานที่คุณชอบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คุณในด้านอื่นๆ ถามตัวเองว่าทำไมคุณถึงสนุกกับแง่มุมเหล่านั้น และทำไมคุณถึงไม่ชอบงานส่วนอื่นๆ

หากคุณรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จโดยสิ้นเชิงและหมดไฟในการทำงาน อาจถึงเวลาต้องแจ้งให้หัวหน้าของคุณทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากคุณไม่มีความสุขในการทำงาน นั่นไม่ใช่เรื่องแย่สำหรับคุณเท่านั้น แต่ยังไม่ดีสำหรับหัวหน้าของคุณอีกด้วย ดังนั้นอย่ากลัวที่จะจัดการกับข้อกังวลด้วยการเผชิญหน้าโดยตรง

แรงจูงใจเป็นที่ส่งต่อถึงกันได้ ความกระตือรือร้น การมองโลกในแง่ดี และการมีสติของคุณจะสะท้อนไปยังคนแวดล้อม และจะช่วยสร้างที่ทำงานเชิงบวกที่ขับเคลื่อนด้วยความหลงใหล ไม่ใช่ด้วยเงินค่าจ้าง

4. ความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น

ความฉลาดทางอารมณ์ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นด้วย แทนที่จะละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับอารมณ์หรือความคิดเห็นของคนอื่นหากคุณไม่เห็นด้วยกับพวกเขา ให้พยายามดูสิ่งต่างๆ จากมุมมองของคนเหล่านั้น ฟังและปล่อยให้พวกเขาแสดงออก แล้วพยายามเรียนรู้จากการโต้ตอบของคุณ เมื่อพูดถึงการจัดการความขัดแย้ง ความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นคือสิ่งสำคัญที่สุด

การมีความฉลาดทางอารมณ์สูง หมายถึง การมีความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตและเข้าใจมุมมองที่แตกต่างกัน คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งพูดหรือทำ แต่อย่างน้อยคุณควรพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น เพื่อที่คุณจะช่วยให้พวกเขาจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้

มีความเห็นอกเห็นใจต่อสมาชิกในทีมของคุณ ฟังพวกเขา และโต้ตอบอย่างสร้างสรรค์ ความก้าวร้าวหรือการละเลยจะเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารและความสบายใจภายในที่ทำงานของคุณ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการทำงานและความเป็นผู้นำของคุณ

5. ทักษะทางสังคม

การมีความตระหนักรู้ทางสังคมที่แข็งแกร่งเป็นส่วนพื้นฐานของการจัดการความสัมพันธ์ และ EQ การมีความฉลาดทางสังคมเป็นมากกว่าเพียงการเป็นมิตรและการใช้ อีโมจิหน้ายิ้ม (แม้จะช่วยได้จริง) แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าถึงได้ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และการแน่ใจว่าคนที่คุณโต้ตอบด้วยรู้สึกสบายใจและมีคนรับฟัง

หลีกเลี่ยงการเป็นผู้ฟังที่เพิกเฉยในการสนทนา คุณต้องแน่ใจว่ามีส่วนร่วม มีการสบตา เป็นผู้มีความกระตือรือร้นในการพูดคุย และแสดงให้เห็นว่าคุณมีความสนใจอย่างแท้จริงและเต็มใจที่จะรับรู้ ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานของคุณผ่านความซื่อตรงและความเห็นอกเห็นใจของคุณ รวมถึงเป็นผู้มีความคิดเชิงบวกและมีความเมตตา

พยายามระวังภาษากายทั้งของคุณและของผู้อื่น การมีทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ที่ดี หมายถึง การมีความสามารถในการ “เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น” และเข้าใจสิ่งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมโดยที่ไม่มีใครพูดอะไรออกมา

เมื่อพูดถึงความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นและทักษะทางสังคม สิ่งสำคัญคือการจำขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้

  • ฟังเพื่อนร่วมงานของคุณ

  • อย่าขัดจังหวะผู้อื่น

  • ต้องแน่ใจว่าข้อคิดเห็นของคุณสร้างสรรค์เสมอ

  • เปิดใจและจริงใจ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้อื่นทำแบบเดียวกัน

  • รับรู้เมื่อคุณหรือสมาชิกในทีมรู้สึกหมดไฟในการทำงานและดำเนินการแก้ไข

  • อุทิศเวลาให้กับกิจกรรมทางสังคม

การสื่อสารคือกุญแจสำคัญ

ทีมที่รู้วิธีการสื่อสารและทำความเข้าใจซึ่งกันและกันจะทำงานได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน และทักษะที่เราได้กล่าวถึงข้างต้นล้วนเกี่ยวกับการสื่อสารที่ชัดเจน ทั้งกับทีมของคุณและกับตัวคุณเอง

การสื่อสารที่ลื่นไหลเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าคุณจะทำงานร่วมกันในออฟฟิศแห่งเดียวกันหรือทำงานร่วมกันจากระยะไกลก็ตาม การใช้เทคนิคและเครื่องมือต่างๆ เช่น Dropbox Paper และวิดีโอการบันทึกหน้าจอเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารอย่างเปิดเผยและการให้ข้อคิดเห็นโดยตรงนั้นจะช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ โดยเครื่องมือแต่ละอย่างสามารถช่วยให้คุณจัดการงานของตนเองและทำงานร่วมกับทีมอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ทำงานที่มีทักษะความฉลาดทางอารมณ์ที่แข็งแกร่งจะได้ประสิทธิผลมากกว่า มีแรงผลักดันมากกว่า และมีสภาพแวดล้อมที่ดีและมีความสุขมากกว่า คุณไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนสนิทกับเพื่อนร่วมงานทุกคน แต่การทำความเข้าใจเพื่อนร่วมงานของคุณว่าพวกเขาคิดอย่างไร และการรู้ว่าคนอื่นมองพฤติกรรมและการกระทำของคุณอย่างไร จะสร้างความแตกต่างเป็นอย่างมาก

การทำงานที่มีความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง การไม่ยอมให้อารมณ์ของคุณมารบกวนคุณภาพงานหรือความสัมพันธ์กับทีมของคุณ ซึ่งหมายความถึงการรู้วิธีการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของคุณ การรู้และเอาชนะจุดอ่อนของคุณ คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์อย่างแท้จริงจะไม่เพิกเฉยต่อปัญหาหรือความรู้สึกด้านลบ แต่จะเผชิญหน้ากับปัญหาตามความเป็นจริง

EQ สูงในที่ทำงานมีความสำคัญมากกว่าหรือเท่ากับ IQ การฝึกฝนและการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยให้คุณเพิ่มความมั่นใจในตนเอง การควบคุมตนเอง ทักษะในการตัดสินใจ และสุขภาพจิตโดยรวม

ค้นพบวิธีที่ดีกว่าในการทำงานร่วมกัน

เริ่มต้นใช้งาน Dropbox สำหรับทีม