การทำความเข้าใจเกี่ยวกับฮาร์ดไดรฟ์
ฮาร์ดไดรฟ์ คือฮาร์ดแวร์ชิ้นหนึ่งที่ใช้ในการจัดเก็บเนื้อหาดิจิทัลและข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องมีฮาร์ดไดรฟ์ภายใน แต่คุณยังสามารถมีฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกที่ใช้เพื่อขยายพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของคอมพิวเตอร์ได้ ต่อไปนี้เราจะมาดูฮาร์ดไดรฟ์ประเภทต่างๆ รวมถึงข้อดีและข้อเสียของฮาร์ดไดรฟ์กัน
ประเภทของพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำรอง
คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องต้องใช้ไดรฟ์จัดเก็บข้อมูลในระยะยาว ซึ่งเรียกว่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำรอง และ RAM (Random Access Memory) ของคอมพิวเตอร์เป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลหลัก
โดยทั่วไปแล้ว พื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำรองมีสองรูปแบบ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) และโซลิดสเทตไดรฟ์ (SSD) ในขณะที่คุณอาจเห็นว่ามีการเรียก SSD ว่าเป็นประเภทฮาร์ดไดรฟ์ แต่ก็ไม่ถูกต้องนัก และสิ่งสำคัญคือการเข้าใจความแตกต่างระหว่าง HDD กับ SSD
HDD คืออะไร
ฮาร์ดไดรฟ์ประเภท “ดั้งเดิม” กว่าคือ HDD
ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ประกอบด้วยดิสก์แม่เหล็ก หรือที่เรียกว่าแพลตเตอร์ ซึ่งหมุนอย่างรวดเร็ว โดยทั่วไป ความเร็วในการหมุนจะอยู่ที่ระหว่าง 5,400 ถึง 15,000 รอบต่อนาที ยิ่งดิสก์แม่เหล็กหมุนเร็ว คอมพิวเตอร์ของคุณยิ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น
ข้อมูลดิจิทัลทั้งหมดอยู่ในรูปแบบรหัสไบนารี ซึ่งเป็นชุดเลขฐานสองที่สามารถแทนข้อมูลส่วนใดก็ได้ หัวอ่าน/เขียนของฮาร์ดไดรฟ์ใช้ในการป้อนข้อมูลเลขฐานสองเหล่านี้โดยการดูดส่วนของแพลตเตอร์ ส่วนเล็กๆ แต่ละส่วนของแพลตเตอร์จะมีบิตอยู่ ซึ่งจะเท่ากับ 1 หรือ 0 ทั้งนี้ หัวสามารถตรวจจับความเป็นแม่เหล็กของแต่ละส่วนได้ จึง "อ่าน" ข้อมูลจากส่วนนั้นๆ ได้ หัวเดียวกันที่สามารถ "อ่าน" ข้อมูลได้ จะสามารถ "เขียน" ได้เช่นกัน โดยเปลี่ยนการดูดบิตบนแพลตเตอร์
ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การบันทึกไฟล์ใหม่หรือการลบไฟล์ หัวของฮาร์ดไดรฟ์จะปรับความเป็นแม่เหล็กของแพลตเตอร์ให้เหมาะสม คุณสามารถนึกภาพเครื่องเล่นแผ่นเสียงโดยที่แผ่นไวนิลเป็นแพลตเตอร์ที่มีข้อมูล และก้านแขนเป็นหัวที่สแกนข้อมูลนั้น
เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลแบบแม่เหล็ก HDD จึงเป็นอุปกรณ์ถาวร ซึ่งหมายความว่ามีการเก็บข้อมูลไว้แม้ว่าจะปิดคอมพิวเตอร์ก็ตาม
ทุกวันนี้ HDD ภายในมีความจุสูงสุด 20 TB ตั้งแต่มี SSD เกิดขึ้น ก็มักไม่ค่อยมีการใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำรองของคอมพิวเตอร์ แต่ก็ยังเป็นตัวเลือกพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายนอกที่เชื่อถือได้
SSD คืออะไร
SSD (โซลิดสเทตไดรฟ์) เป็นฮาร์ดไดรฟ์ประเภทใหม่กว่า และกลายเป็นรูปแบบที่ต้องการสำหรับฮาร์ดไดรฟ์ภายในของแล็ปท็อประดับไฮเอนด์ นอกจากนี้ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตทั้งหมดก็ใช้รูปแบบ SSD เช่นกัน
โซลิดสเทตไดรฟ์ใช้หน่วยความจำแฟลช ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ในแฟลชไดรฟ์ USB และการ์ดหน่วยความจำสำหรับกล้องดิจิทัล SSD ไม่มีการใช้แม่เหล็กเลย แต่ใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่จัดเก็บข้อมูลโดยการเปลี่ยนสถานะทางไฟฟ้าของวงจรนับล้านล้านที่อยู่ภายใน SSD เนื่องจากไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวใดๆ จึงไม่เพียงทำงานได้เร็วขึ้น (เนื่องจากคุณไม่จำเป็นต้องรอให้ดิสก์หมุนและรอให้หัวรวบรวมข้อมูล) และยังมีแนวโน้มที่จะใช้งานได้นานกว่า HDD อีกด้วย
การผลิต SDD มีราคาแพงกว่ามาก ดังนั้น ในขณะที่ SDD มีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้นโดยเป็นดิสก์ไดรฟ์หลักสำหรับแล็ปท็อปและพีซีระดับไฮเอนด์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จึงยังคงเป็นที่ต้องการของหลายๆ คน เนื่องจากเป็นตัวเลือกพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายนอกที่มีราคาถูกกว่า
ประวัติความเป็นมาโดยย่อของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
หลังจากทดลองใช้เทปแม่เหล็กเป็นวิธีการจัดเก็บข้อมูล ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เชิงพาณิชย์ครั้งแรกได้รับการออกแบบขึ้นในปี ค. ศ. 1956 โดยทีมงานของ IBM ที่นำโดย Reynold B. Johnson
ทีมงานของ IBM ค้นพบว่าสามารถจัดเก็บข้อมูลบนดิสก์โลหะแม่เหล็กที่สามารถเขียนข้อมูลใหม่ทับได้ ซึ่งนำไปสู่การสร้างระบบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ระบบแรกที่เรียกว่า RAMAC (Random Access Method of Accounting and Control)
ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ดั้งเดิมมีขนาดประมาณตู้เย็นสองตู้ โดยมีแพลตเตอร์ขนาด 24 นิ้วทั้งหมด 50 แผ่น ซึ่งหมุนที่ความเร็ว 1,200 รอบต่อนาที แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่ แต่ RAMAC ก็มีความจุในการจัดเก็บข้อมูลเพียง 5 MB ซึ่งเท่ากับขนาดของรูปภาพหนึ่งรูป และแม้จะมีความจุเพียงเท่านั้น แต่ก็มีราคาประมาณ 10,000 ดอลลาร์ต่อเมกะไบต์
RAMAC ตั้งอยู่ที่กลุ่มเซิร์ฟเวอร์ศูนย์ข้อมูลของ IBM จนกระทั่ง IBM เปิดตัวพื้นที่จัดเก็บข้อมูลแบบถอดได้ในปี ค.ศ. 1960 ไดรฟ์จัดเก็บข้อมูล IBM 1311 ในปี ค. ศ. 1962 มีขนาด 2.6 MB บนแพลตเตอร์ขนาด 14 นิ้ว 6 แผ่น ซึ่งมีขนาดประมาณเครื่องล้างจาน
คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปส่วนบุคคลเกิดขึ้นในยุค 70 และในเวลาเดียวกัน IBM กำลังพัฒนาฟลอปปีดิสก์แผ่นแรก ฟลอปปีดิสก์เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1971 เป็นดิสก์แม่เหล็กพกพาง่ายแผ่นแรก ซึ่งคุณอาจถือว่าเป็นฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกตัวแรก ฟลอปปีดิสก์กลายเป็นมาตรฐานสำหรับพื้นที่จัดเก็บข้อมูลแบบดิสก์ จนกระทั่งซีดีและแฟลชไดรฟ์ USB แบบเขียนได้กลายเป็นที่แพร่หลายในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ ฮาร์ดดิสก์อ่าน/เขียนตัวแรกสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีการเปิดตัวในปี ค.ศ. 1972 โดย Memorex
ภายในปี 1980 บริษัท ยักษ์ใหญ่หลายแห่งได้แข่งขันกันผลิต HDD และไดรฟ์ ST-506 ของ Shugart Technology กลายเป็น HDD ที่มีขนาดกะทัดรัดที่สุดในขณะนั้น โดยมีขนาด 5.25 นิ้ว พร้อมความจุ 5 MB ในขณะเดียวกัน IBM ได้เปิดตัว IBM 3380 ซึ่งเป็นฮาร์ดไดรฟ์ตัวแรกที่ให้พื้นที่จัดเก็บข้อมูล 1 GB
ในปี ค.ศ. 1983 Rodime ได้เปิดตัว RO352 ซึ่งเป็น HDD ขนาด 3.5 นิ้ว รุ่นแรกที่มีแพลตเตอร์ 2 แผ่นและความจุ 10 MB หลังจากนั้นไม่นาน HDD ขนาด 3.5 นิ้ว ได้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้ (โดย HDD ของแล็ปท็อปมีขนาด 2.5 นิ้ว)
ในช่วงยุค 80 ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากขนาดทางกายภาพของฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกมีขนาดเล็กลง ความจุของฮาร์ดไดรฟ์จึงเพิ่มขึ้น
ฮาร์ดไดรฟ์ใช้ทำอะไร
อธิบายได้ง่ายๆ ว่าฮาร์ดไดรฟ์ใช้จัดเก็บข้อมูล ในคอมพิวเตอร์ ข้อมูลนี้รวมถึงรูปภาพ วิดีโอ เพลง เอกสาร และแอปพลิเคชันทั้งหมดของคุณ และนอกเหนือจากนั้น ยังมีการจัดเก็บรหัสสำหรับระบบปฏิบัติการ เฟรมเวิร์ก และไดรเวอร์ของคอมพิวเตอร์ของคุณไว้ในฮาร์ดไดรฟ์ด้วย ความจุของฮาร์ดไดรฟ์มีหน่วยวัดเป็นเมกะไบต์ (MB) กิกะไบต์ (GB) และเทราไบต์ (TB)
ฮาร์ดไดรฟ์แตกต่างจาก RAM (Random Access Memory) ซึ่งเป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลชั่วคราวของคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งทำให้เป็นหน่วยความจำชั่วคราว โดยจะจัดเก็บข้อมูลเมื่อเปิดคอมพิวเตอร์เท่านั้น RAM ไม่ได้ใช้สำหรับข้อมูลส่วนบุคคล แต่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เท่านั้น คอมพิวเตอร์ของคุณต้องการหน่วยความจำเพื่อให้ทำงานได้อย่างราบรื่น และช่วยให้คุณสามารถข้ามจากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่ง หรือจากแอปพลิเคชันหนึ่งไปอีกแอปพลิเคชันหนึ่งได้ โดยที่งานหรือแอปพลิเคชันก่อนหน้าไม่หายไป RAM เป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลหลัก ในขณะที่ HDD และ SSD เป็นพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำรอง
ฮาร์ดไดรฟ์เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการเก็บรักษาไฟล์และข้อมูลของคุณในระยะยาว เมื่อใดก็ตามที่คุณบันทึกไฟล์ลงในคอมพิวเตอร์ คุณจะบันทึกไฟล์ลงในฮาร์ดไดรฟ์ของคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดไดรฟ์เปรียบเสมือนตู้เก็บไฟล์ดิจิทัลของคุณ
ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกคืออะไร
ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอก คือฮาร์ดไดรฟ์ที่ไม่ได้ติดตั้งไว้ในคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์พกพาที่คุณสามารถเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่จัดเก็บ ในขณะที่ฮาร์ดไดรฟ์ภายในจะเชื่อมต่อโดยตรงกับเมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์โดยตรง และจัดเก็บข้อมูลระบบปฏิบัติการ เฟรมเวิร์ก ไดรเวอร์ และซอฟต์แวร์ เพิ่มเติมจากไฟล์ของคุณ ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกส่วนใหญ่จะใช้สำหรับจัดเก็บไฟล์ส่วนตัว
โดยปกติแล้ว ฮาร์ดไดรฟ์ของคอมพิวเตอร์สามารถถอดออกและอัปเกรดได้ แต่เป็นงานที่ยากลำบาก หลายคนจึงเลือกใช้ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกเมื่อคอมพิวเตอร์ของตนเริ่มมีพื้นที่เหลือน้อย
ปัจจุบันนี้ ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกสามารถจัดเก็บข้อมูลได้มากถึง 20 TB ซึ่งมากกว่าที่ฮาร์ดไดรฟ์ตัวแรกสามารถจัดเก็บได้ในปี ค.ศ. 1956 ถึงล้านเท่า ความจุเหล่านี้ของฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกประกอบกับการที่สามารถพกพาได้และราคาที่ย่อมเยาทำให้ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกเป็นโซลูชันที่ดีที่สุดสำหรับการเพิ่มความจุของคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งมีบริการพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์
ข้อเสียของการใช้ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกสำหรับการจัดเก็บข้อมูล
เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ความจุของพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายในของคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกเป็นโซลูชันที่มีประโยชน์ แต่มีความเสี่ยงและข้อจำกัดบางประการที่ต้องพิจารณา
HDD ภายนอกมีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะเกิดการสูญหายเช่นเดียวกับฮาร์ดไดรฟ์ภายใน ซึ่งอาจเกิดจากการโจมตี เช่น มัลแวร์หรือไวรัส หรืออาจมาจากความเสียหายและการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ เช่น แสงแดดหรือความร้อนที่มากเกินไป การสัมผัสกับของเหลว ฝุ่นละออง หรือการรบกวนจากสนามแม่เหล็กอื่นๆ
ชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวสลับซับซ้อนจำนวนมากที่ทำให้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ทำงาน ทำให้ค่อนข้างเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณถือชิ้นส่วนเหล่านี้ไปทุกที่ที่คุณไป ถ้าฮาร์ดไดรฟ์เสียหาย คุณอาจยังคงสามารถดึงข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในแพลตเตอร์ได้ แต่อาจเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง ในคอมพิวเตอร์ HDD เป็นหนึ่งในฮาร์ดแวร์ที่เปราะบางที่สุดเนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนไหว
นอกจากนี้ ฮาร์ดไดรฟ์ทั่วไปไม่มีการป้องกันด้วยรหัสผ่านหรือการเข้ารหัส ดังนั้น ถ้าวางไว้ผิดที่หรือถูกขโมย ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณอาจถูกบุกรุกได้ง่าย
ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกจำนวนมากยังรองรับระบบปฏิบัติการบางระบบเท่านั้น หรือรองรับระบบปฏิบัติการได้ครั้งละหนึ่งระบบเท่านั้น คุณอาจมี MacBook และพีซีที่ใช้ Windows และพบว่าฮาร์ดไดรฟ์ของคุณไม่สามารถอ่านและเขียนบนอุปกรณ์ทั้งสองได้ ซึ่งอาจสร้างความรำคาญให้ถ้าคุณต้องการใช้ฮาร์ดไดรฟ์เพื่อโอนย้ายไฟล์จากเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง ฮาร์ดไดรฟ์จำนวนมากต้องมีการฟอร์แมต ซึ่งทำให้ข้อมูลทั้งหมดสูญหายไปก่อนที่คุณจะสามารถกำหนดค่าให้เขียนบนระบบปฏิบัติการอื่นได้
การใช้บริการพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์แทนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
การมีบริการพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์เสนอทางออกสำหรับข้อจำกัดและความเสี่ยงของฮาร์ดไดรฟ์ โดยมอบทางเลือกในการจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้มากขึ้น การบันทึกไฟล์บนระบบคลาวด์ หมายถึงการจัดเก็บไฟล์แบบออนไลน์ โดยที่จะไม่ใช้พื้นที่บนอุปกรณ์ของคุณ
เมื่อใช้ Dropbox คุณจะมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลได้ถึง 3 TB ในบัญชีส่วนตัวที่สามารถใช้ได้กับไฟล์เกือบทุกประเภท และมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลมากเท่าที่คุณต้องการด้วยบัญชี Dropbox Business Advanced และ Enterprise
แทนที่จะต้องซื้อไดรฟ์เพิ่มทีละไดรฟ์เมื่อพื้นที่จัดเก็บเต็ม คุณสามารถขยายบริการพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์ได้โดยไม่ต้องใช้พื้นที่จริงเลย เนื่องจากการบันทึกไฟล์ไว้ในฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกหลายๆ ไดรฟ์อาจทำให้การค้นหาไฟล์ที่คุณต้องการเป็นเรื่องยาก การใช้บริการพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์ซึ่งจัดเก็บไฟล์ทั้งหมดไว้ในที่เดียวจึงจะช่วยให้คุณเข้าถึงและค้นหาไฟล์ได้ง่ายจากอุปกรณ์ใดก็ได้ที่ต่ออินเทอร์เน็ต ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกมักจะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่าน USB จึงเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้เพียงบางประเภทเท่านั้น ในขณะที่บริการพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์สามารถเข้าถึงได้ผ่านพีซีและแล็ปท็อป ทั้งยังเข้าถึงผ่านแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย นอกจากนี้ ถ้าคุณต้องการโอนย้ายไฟล์จากไดรฟ์ภายนอกไปยังคลาวด์ คุณก็สามารถใช้การสำรองข้อมูลไดรฟ์ภายนอกเพื่อให้คุณเข้าถึงไฟล์ของคุณได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด
Dropbox ใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในกลุ่มเซิร์ฟเวอร์ศูนย์ข้อมูลทั่วโลก คุณจึงไม่สามารถทำระบบคลาวด์หล่นโดยไม่ได้ตั้งจนไฟล์ภายในเสียหายเหมือนที่คุณอาจทำฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกหล่นได้ เนื่องจากทุกอย่างอยู่ในรูปแบบดิจิทัลและปลอดภัย เมื่อคุณบันทึกไฟล์ลงใน Dropbox คุณจะบันทึกไฟล์ไว้ในพื้นที่ที่เข้ารหัสและได้รับการป้องกัน ซึ่งมีความเสี่ยงในการถูกขโมยน้อยกว่าฮาร์ดไดรฟ์แบบเดิม
Dropbox เป็นโซลูชันอเนกประสงค์ที่ปลอดภัยสำหรับการสำรองและจัดเก็บไฟล์ ซึ่งช่วยประหยัดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของคุณ ไม่ยุ่งยากและไม่มีความเสี่ยงของการเก็บข้อมูลสำคัญของคุณไว้ในฮาร์ดไดรฟ์ภายนอก